กรุงเทพฯ ประเทศไทย

สรุปเนื้อหา LINE THAILAND DEVELOPER CONFERENCE 2019

LINE THAILAND DEVELOPER CONFERENCE

ผมได้มีโอกาสผ่านขั้นตอนการคัดเลือกให้เป็น 1 ในจำนวน 800 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 2,000 คน ให้เข้าร่วมงานสำคัญที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ของ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีชื่อว่า LINE THAILAND DEVELOPER CONFERENCE 2019 จัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (Bangkok International Trade & Exhibition Centre: BITEC) แกรนด์ฮอลล์ 201 – 203 เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 8.30 น. – 17.30 น.

ผมเห็นว่าเนื้อหาของการประชุมนั้น มีความน่าสนใจ ผมจึงสรุปเนื้อหาของงานมาให้อ่านกันเพลิน ๆ ครับ

ประเทศไทยมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) จำนวน 44 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทฯ จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดเชิงเทคนิคผ่านวิธีการเปิดชุมชุนนักพัฒนาไลน์ (LINE Developer Community) ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างนักพัฒนาระบบในบริษัทของตนเองกับนักพัฒนาระบบจากภายนอกบริษัท อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน LINE

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการออกแบบ LINE ใหม่ ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ (1) หน้าตาแอปพลิเคชันให้มีความสวยงาม (2) ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (Application Programming Interface: API) ให้เป็นระบบเปิด โดยอนุญาตให้นักพัฒนาระบบจากภายนอกบริษัทสามารถนำ API ไปใช้ประโยชน์ได้ (3) รองรับการส่งข้อความระหว่างผู้ใช้งานมากถึง 2 ล้านคนต่อนาที และ (4) การพัฒนาความเสถียรของระบบนิเวศของ LINE ในภาพรวม

ระบบนิเวศของ LINE (LINE ECOSYSTEM) ประกอบไปด้วย 8 ระบบ ได้แก่

LINE Ecosystem
LINE Ecosystem

1. การเข้าสู่ระบบโดยการใช้ LINE (LINE Login)

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ LINE Login ให้ผู้ใช้งาน LINE สามารถเข้าสู่ระบบ ของแอปพลิเคชันนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทะเบียนผู้ใช้งานใหม่ ทำให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนั้น เกิดประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีและเกิดความประทับใจ เนื่องจากการเข้าสู่ระบบของแอปพลิเคชันนั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว

LINE Login
LINE Login

2. การแจ้งเตือนโดยการใช้ LINE (LINE Notify)

LINE Notify
LINE Notify

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ LINE Notify ในการแจ้งเตือนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน อาทิ การแจ้งเตือนเมื่อมีข่าวสาร หรือมีความเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน

3. ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์สำหรับข้อความทาง LINE (LINE Messaging API)

Rich Menu API
Rich Menu API
Message API Chatbot
Message API Chatbot

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ LINE Messaging API ในการส่งข้อความหลากหลายประเภทให้เหมาะกับสารที่จะสื่อให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันได้รับรู้โดย (1) ส่งผ่านกันระหว่างผู้ใช้งานแอปพลิเคชันกับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน หรือ (2) ส่งผ่านกันระหว่างระบบหุ่นยนต์โต้ตอบข้อความอัตโนมัติ (Chatbot) กับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน โดย LINE Messaging API ประกอบด้วยข้อความ 3 ประเภท ได้แก่

Message Types
Message Types

1. ประเภทพื้นฐาน (การส่งผ่านกันระหว่างผู้ใช้งานแอปพลิเคชันกับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน) ประกอบไปด้วย (1) ข้อความธรรมดา (2) สติ๊กเกอร์ (3) รูปภาพ (4) วีดิโอ (5) ข้อความเสียง และ (6) ตำแหน่งที่ตั้ง

Advanced Message Types
Advanced Message Types

2. ประเภทขั้นสูง (การส่งผ่านกันระหว่างระบบหุ่นยนต์โต้ตอบข้อความอัตโนมัติ (Chatbot) กับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน) ประกอบไปด้วย (1) ตัวเลือกให้กดเลือก (2) ปุ่มให้กดยืนยัน (3) แสดงข้อความแบบม้าหมุน (Carousel) (4) แสดงรูปภาพแบบม้าหมุน (Image Carousel) (5) ภาพแบ่งออกเป็นตาราง 4 ช่อง (Imagemap)

Flex Message
Flex Message

3. ประเภทยืดหยุ่น (การส่งผ่านกันระหว่างระบบหุ่นยนต์โต้ตอบข้อความอัตโนมัติ (Chatbot) กับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน) ข้อความประเภทนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากประเภทข้อความในข้อ 2

ข้อความประเภทแบบยืดหยุ่น ประกอบไปด้วย (1) เมนูการสั่งซื้อสินค้า (2) ข้อมูลเที่ยวบิน (3) ข่าวสาร (4) ตั๋วพร้อมรหัสคิวอาร์ (5) การยืนยันการชำระเงิน

4.เฟรมเวิร์กหน้าบ้านของ LINE (LINE Front-end Framework: LIFF)

LIFF
LIFF

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ LIFF ในการเชื่อมโยงเว็บไซต์ใด ๆ ให้มาแสดงผลใน LINE ได้ โดยไม่ต้องออกจาก LINE ไปยังหน้าอื่น ดังนั้น LIFF ทำให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเกิดประสบการณ์ในการใช้งานที่ลื่นไหล ไม่ขาดตอน โดยข้อความประเภทนี้ได้รับการนำไปใช้ในแอปพลิเคชัน LINE MAN ที่สามารถใช้เรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหาร และส่งพัสดุ

5. ระบบชำระเงินผ่านทาง LINE (LINE PAY)

LINE Pay
LINE Pay

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ LINE PAY เพื่อให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันสามารถชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน LINE ได้ทันที อาทิ Rabbit LINE Pay ที่เป็นการเชื่อมโยงระบบ LINE PAY กับบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส

6. อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งโดย LINE (LINE Things และ LINE Beacon)

LINE Things
LINE Things
LINE Beacon
LINE Beacon

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ (1) LINE Things เชื่อมต่อ LINE เข้ากับสิ่งของในที่พักอาศัย อาทิ ใช้ LINE เป็นเหมือนรีโมตคอนโทรลเพื่อเปิดหรือปิดเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งอนุญาตให้สิ่งของในที่พักอาศัยสามารถแจ้งข้อความมาหาผู้ใช้งานแอปพลิเคชันได้ เช่น การแจ้งข้อความแสดงข้อมูลน้ำหนักตัวของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเมื่อยืนชั่งน้ำหนักบนเครื่องชั่งน้ำหนัก และ (2) LINE Beacon เพื่ออนุญาตให้อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณในลักษณะของบลูทูธ (Beacon) แจ้งเตือน เมื่อผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเดินเข้าไปใกล้อุปกรณ์ดังกล่าวในรัศมีที่กำหนด โดยบริษัทผลิตรองเท้าไนกี้สร้างกิจกรรมทางการตลาดที่มีชื่อว่า Nike GoBKK เพื่อให้นักวิ่งสามารถวิ่งเก็บแต้มในแอปพลิเคชันโดยการวิ่งผ่านพื้นที่ในโลกความเป็นจริงเพื่อนำแต้มไปเเลกของที่ระลึก

7. ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลทาง LINE (LINE Social API)

Image result for LINE Social API

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถใช้ LINE Social API ในการดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน LINE เพื่อนำไปใช้ในแอปพลิเคชันนั้น โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบไปด้วย (1) รูปภาพประจำตัว (2) ชื่อ (3) คำอธิบายเกี่ยวกับผู้ใช้งาน โดยข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับ

8. ลำโพงอัจฉริยะคโลว่า (Clova Smart Speaker)

นักพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ สามารถเชื่อมต่อระบบหุ่นยนต์โต้ตอบข้อความอัตโนมัติ (Chatbot) เข้ากับ Clova Smart Speaker เพื่อให้มนุษย์สามารถพูดคุยโต้ตอบกับระบบหุ่นยนต์ฯ ได้เหมือนพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์จริง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Clova Smart Speaker มีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น

Follow LINE DEVELOPER
Follow LINE DEVELOPER

ขอบคุณรูปสวย ๆ จาก Facebook คุณ Warit Wanwithu

เนื้อหาน่าสนใจในระดับใด

โปรดให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 5 / 5. นับคะแนน 3

ยังไม่มีใครให้คะแนนเลย มาเป็นคนแรกที่ให้คะแนนกันเถอะ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *