วันนี้ผมก็จะมาพูดถึงเรื่องของสิทธิรักษาพยาบาลซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับเพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อนกว่าที่เห็นและเข้าใจได้ยาก
ผมได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามเรื่องนี้ด้วยตนเอง ดังนั้นตัวผมจึงได้ข้อมูลเชิงลึกจากทั้งประกันสังคมและทางกรมบัญชีกลาง วันนี้ผมขออนุญาตนำเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลมาพูดถึงในบทความนี้เพื่อเป็นทั้งการแบ่งปันความรู้และแนวทางปฎิบัติเพื่อที่ว่าในอนาคต ท่านผู้อ่านจะได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้อง
เริ่มต้นด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า หากท่านเป็นข้าราชการและมีภรรยาที่ได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ภรรยาของท่านเป็นพนักงานบริษัทเอกชน
คำถามคือ ภรรยาท่านนั้นได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการด้วยหรือไม่ ?
คำตอบ คือ ไม่ ภรรยาของท่านจะได้สิทธิประกันสังคม
มาทำเข้าใจกันก่อนว่าคนไทยมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่ 2 กรณี คือ
- สิทธิหลัก
- สิทธิรอง
จากกรณีตัวอย่างที่ผมจะยกมานั้นคุณภรรยามีสิทธิหลักคือประกันสังคมในขณะที่สิทธิรองคือสิทธิของข้าราชการที่ได้มาจากคุณสามี
ที่เป็นแบบนี้นั้นอยู่เบื้องหลังแนวคิดที่ว่ารัฐบาลได้อุดหนุนไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อดูแลค่ารักษาพยาบาลของประชาชนชาวไทยอยู่แล้ว ดังนั้นหากประชาชนชาวไทยต้องการรักษาพยาบาลจึงต้องรู้ว่าสิทธิหลักของตัวเองคืออะไรและต้องใช้สิทธินั้นก่อนรวมถึงต้องให้สิทธินั้นดูแลเราด้วย
ประชาชนไม่สามารถเลือกสิทธิได้ตามใจ ที่ต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะ… รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่กองใดกองหนึ่งมากเกินไปหรืออีกนัยหนึ่งก็คือรัฐบาลดูแลงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง
พอมาถึงจุดนี้… ผมจึงชอบพูดแซวเล่นกับเพื่อน ๆ ว่าถ้าผมจะมีภรรยาซักคน ก็ควรจะมีภรรยาที่เป็นแม่ค้าขายปลาทูที่ตลาดนัดแถวบ้าน เพราะว่าเค้าจะได้รับสิทธิข้าราชการเต็ม ๆ ในขณะที่หากภรรยาผมเป็นพนักงานบริษัทก็จะได้สิทธิประกันสังคม และถ้าเป็นข้าราชการด้วยกันก็จะได้สิทธิรักษาพยาบาลราชการด้วยกันอยู่แล้ว … ซึ่งอันนี้ก็เป็นการพูดเล่นกันเฉย ๆ นะครับ
มาพูดถึงปัญหาที่เป็นระดับตำนาน
เรียกได้ว่าพบกันในหลายยุคหลายสมัย แม้กระทั่งท่านผู้อ่านเองก็อาจจะเคยพบเห็นผ่านตามาบ้างที่เว็บไซต์ pantip.com
ผมขอหยิบยกเอากระทู้นี้มาเป็นตัวอย่างครับ
สิทธิค่ารักษาพยาบาลของภรรยา ในกรณี สามีเป็นข้าราชการ ภรรยาเป็นพนักงานบริษัท
จะเห็นได้ว่าการที่ผู้มีสิทธิหลักเป็นประกันสังคมจะพยายามเลือกสิทธิรองที่เป็นสิทธิราชการของคู่สมรส นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยกฎระเบียบที่ทางส่วนราชการใดกำหนดมาเอาล่ะ แล้วทางออกของปัญหานี้คืออะไร ?
เรื่องราวสมมติที่ประชาชนมักเจอ คือ
คู่สมรสที่เป็นสามีทำงานราชการ ภรรยาทำงานบริษัทเอกชน
ภรรยาใช้สิทธิประกันสังคม แต่ไม่พอใจบริการโรงพยาบาลตามหน้าบัตร
จึงย้ายไปโรงพยาบาลที่ตนเองไว้ใจ แต่เบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ จะใช้สิทธิข้าราชการก็ไม่ได้
ผมได้โทรติดต่อไปที่สำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อจะสอบถามข้อเท็จจริงและแนวปฏิบัติเพื่อที่จะได้เป็นแนวทางออกสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหานี้และนี่ก็คือสิ่งที่ผมสรุปออกมาได้จากการพูดคุยของทั้งสองหน่วยงาน
1. เนื่องจากสิทธิหลักคือประกันสังคม ต้องให้สำนักงานประกันสังคมดูแล
หมายถึง หากโรงพยาบาลใกล้บ้านดูแลผู้ป่วยไม่ดี อย่าเพิ่งย้ายตัวเองไปยังโรงพยาบาลอื่นด้วยตนเอง แต่แจ้งสำนักงานประกันสังคมให้มาตรวจสอบก่อน และหากสำนักงานประกันสังคมพิจารณาทำเรื่องให้ย้ายโรงพยาบาลแล้วมีค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิประกันสังคม คุณภรรยาจึงสามารถใช้สิทธิรอง คือ สิทธิข้าราชการของสามีได้
2. ถ้าย้าย รพ. ด้วยตนเองไปแล้ว รีบแจ้งหมอ รพ. ปัจจุบัน
หมายถึง ให้แจ้งหมอ หรือโรงพยาบาลปัจจุบันให้จัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group) และน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRw – Adjusted Relative Weight) ว่ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 2 หรือไม่เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยเป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์หรือไม่ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะดำเนินการติดต่อสำนักงานประกันสังคมให้ทราบเรื่องดังกล่าว
เมื่อติดต่อสำนักงานประกันสังคมได้แล้ว หากมีส่วนเกินที่เกินมาจากสิทธิประกันสังคม ให้ทางคุณสามีที่เป็นข้าราชการทำเรื่องไปยังส่วนราชการระดับกรมเพื่อส่งเรื่องมายังกรมบัญชีกลางให้พิจารณาการเบิกจ่ายส่วนต่างของค่ารักษาพยาบาลได้
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านคงจะได้ทราบประโยชน์จากบทความนี้จะได้รู้ตัวเองว่าตัวเองนั้นมีสิทธิหลักในการรักษาพยาบาลคือสิทธิใดและสิทธิที่รองคืออะไร เมื่อใช้สิทธิถูกต้องก็ไม่เครียดทั้งเราและไม่เครียดทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
คู่มือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ https://home.kku.ac.th/praudit/law/07_medical_fee/22_Medical_guide_government%20officer_CGD_2553.pdf
รู้หรือไม่สิทธิค่ารักษาพยาบาลของคนไทย http://www1.si.mahidol.ac.th/km/sites/default/files/u1/thai_0.pdf