กรุงเทพฯ ประเทศไทย

การพัฒนาคนเพื่อสร้างนวัตกรรม

pexels photo 212286

ตัวผมเองได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาที่หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งโดยหน่วยงานแห่งนี้ทำความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดงานขึ้น (ตอนแรกก็นึกว่าไปผิดงาน) หัวหน้างานได้มอบหมายให้ผมทำหน้าที่จดบันทึก ตัวผมเห็นว่าเนื้อหาของงานสัมมนามีประโยชน์ และไม่ได้เป็นเนื้อหาความลับใด ๆ จึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันกันครับ

อ่านสรุปการประชุมครั้งที่แล้วเรื่อง Disruptive technology กับประเทศไทยในอนาคต ที่นี่ 

อุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน คือ การที่บุคลากรในหน่วยงานใช้เวลากับงานประจำมากไปจนไม่มีเวลาสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของหน่วยงานต่าง ๆ เพราะหน่วยงานถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความสำเร็จในปัจจุบัน ซึ่งวิทยากรใช้คำว่า To perform today โดยทำงานตาม KPI โดยไม่คำนึงถึงอนาคตที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงานจึงเป็นไปได้ยาก เพราะบุคลากรไม่สามารถทิ้งงานประจำมาสร้างนวัตกรรมได้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเอกชนบางที่ ให้สร้างทีมนวัตกรรมมาทำนวัตกรรมอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือนโดยที่ไม่ต้องทำงานประจำอย่างอื่นนั่นเป็นเพราะว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน

 

ขั้นตอนที่จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมสำเร็จ

วิทยากรเล่าว่าที่บริษัท Mind Dojo Co., Ltd. ของเขา สร้างนวัตกรรมได้ก็เพราะอาศัยการเรียนรู้โดยยึดกระบวนการ (Process-based Learning) ซึ่งกระบวนการนี้วิทยากรเรียกว่า InnovationDoJo 2018 โดยสรุปได้ว่า การสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จนั้นผู้บริหารต้องให้การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจัง และต้องสร้างทีมคิดนวัตกรรมขึ้นมา โดยทีมคิดนวัตกรรมดังกล่าวต้องมีความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเข้าใจการแก้ปัญหาโดยอาศัยกระบวนการออกแบบนวัตกรรม (Design Thinking) ซึ่งจะช่วยสร้างแนวคิด และออกแบบโครงการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยอาศัยกระแสอนาคต (Trend) ที่กำลังมาถึง รวมถึงทำการสร้างต้นแบบ Minimum Viable Product (MVP) คือสร้างตัวแบบขึ้นมาซึ่งใช้ได้บางส่วนโดยอาศัยงบประมาณน้อย และให้เรียนรู้จากความผิดพลาด สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้หากต้นแบบไปต่อไม่ได้ก็จะเสียหายต่อหน่วยงานไม่มาก การทำตามกระบวนการเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารสามารถเห็นภาพ และจับต้องนวัตกรรมดังกล่าวได้

 

เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential Technology)

ปัจจุบันเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว สร้างผลกระทบรุนแรง และต้นทุนลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ Harddisk และ Thumb drive เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มที่น่าสนใจเรียกว่า Tony Seba’s Exponential Technologies in 2016 ยกตัวอย่างได้ดังนี้

– เครื่องปริ้นท์ 3 มิติ ได้รับการพัฒนาให้ราคาถูกลง 400 เท่า ในเวลา 7 ปี
เครื่องบินแบบโดรน ได้รับการพัฒนาให้ราคาถูกลง 142 เท่า ในเวลา 6 ปี

วิทยากรเล่าเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีบางตัวถ้าอยู่ด้วยกันก็จะยิ่งเติบโตก้าวกระโดด เช่น Tesla ที่จัดทำ แผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ในรูปแบบของกระเบื้องของหลังคาบ้านที่มีความสวยงาม แข็งแกร่ง และหลังคาต้องราคาถูกกว่ากระเบื้องหลังคาปกติในท้องตลาด

นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของไอโฟนเสมอไป

วิทยากรกล่าวว่า เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของสินค้าไฮเทคแบบไอโฟน (iPhone) เสมอไป แต่อาจจะหมายถึงการขายสินค้าในช่องทางใหม่ ๆ ก็ได้ เช่น ในบางประเทศถ้าผู้บริโภคจะซื้อเครื่องสำอางของ Clinique ก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อที่ห้างสรรพสินค้า แต่สามารถซื้อตามตู้หยอดเหรียญได้ ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างของการสร้างนวัตกรรมในช่องทางการขาย นอกจากนี้แล้ววิทยากรยังยกตัวอย่างของ Booster ที่บริการเติมน้ำมันรถยนต์ และให้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้

 

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งมากขึ้นวิทยากรทำกิจกรรมในห้องโดยถามว่า “การทำฟันควรเป็นที่ไหน”

 

ผู้ฟังในห้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นที่คลินิก หลังจากนั้นวิทยากรจึงให้ผู้ฟังถามคนข้าง ๆ ว่า ผลแอปเปิ้ลนั้นสามารถสร้างนวัตกรรมโดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยไปหาทันตแพทย์ที่คลินิกได้หรือไม่ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ววิทยากรจึงขออาสาสมัครให้เสนอแนวคิดที่ตกผลึกหลังจากทำกิจกรรมดังกล่าว ในห้องมีอาสาสมัคร 2 คนอาสาตอบคำถาม โดยคนแรกตอบว่าใช้แอปเปิ้ลตรวจแรงกัดเพื่อตรวจสุขภาพฟัน ในขณะที่อาสาสมัครคนที่สองตอบว่าให้ใช้แอปเปิ้ลเคลือบฟลูออไรด์ โดยให้กินแอปเปิ้ลไปรักษาสุขภาพฟันไปพร้อม ๆ กัน

วิทยากรจึงเฉลยโดยการเล่าว่าบริษัท Dentapple ของญี่ปุ่นขายแอปเปิ้ลพร้อม QR code เพื่อให้สแกน และดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อใช้สแกนรอยกัด หลังจากนั้นจะได้รับการสแกน เพื่อตรวจผล และส่งผลไปยังทันตแพทย์ใกล้เคียงผ่านระบบ GPS ให้ทันตแพทย์ติดต่อผู้ป่วยเพื่อนัดตรวจสุขภาพฟัน หลังจากนั้นจึงกล่าวสรุปว่า นวัตกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหน่วยงานในหลากหลายอุตสาหกรรม

 

จะทำอย่างไรให้เป็นหน่วยงานแห่งนวัตกรรม

 

ผู้บริหารมักสนับสนุนบุคลากรให้สร้างนวัตกรรมโดยวิธีการให้กำลังใจ

ซึ่งจากงานวิจัยแล้วพบว่าวิธีการดังกล่าวไม่ได้สร้างผลทางบวกกับการสร้างนวัตกรรมของบุคลากรในหน่วยงานเท่าไรนัก แต่ 4 ปัจจัยเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นการช่วยให้หน่วยงานเป็นหน่วยงานแห่งนวัตกรรม 4 ปัจจัยนั้นประกอบไปด้วย

  1. Innovation Strategy
    ผู้บริหารจะต้องบอกให้บุคลากรในหน่วยงานนั้นว่าจะให้คิดนวัตกรรมเรื่องอะไร คิดเมื่อไหร่ และให้คิดภายใต้กรอบของความเป็นจริง โดยวิทยากรยกตัวอย่างว่าเปรียบเหมือนการโฟกัส ที่เหมือนกันกับการกดปิดพื้นที่หน้าตัดของท่อน้ำให้น้ำที่ไหลออกมามีแรงดันมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม โดยให้นึกถึงเวลา ที่เราใช้สายยางฉีดรดน้ำต้นไม้
  2. Portfolio Management
    ผู้บริหารเลือกโครงการอย่างไร วิทยากรพบว่าหลากหลายหน่วยงานมักจะเลือกโครงการประเภท การเน้นผลกำไร แต่เรื่องการสร้างนวัตกรรมนั้นไม่ได้เน้นกำไรระยะสั้น โดยการเลือกโครงการนั้น ควรให้ความสำคัญเป็นร้อยละดังนี้ ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 30% ตรงกับยุทธศาสตร์ 25% สามารถทำได้จริง 20% ผลกำไร 15% และน่าตื่นเต้น 10% จะเห็นได้ว่าการเลือกโครงการนั้นผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
  3. Dr. Ekvall’s 10 Dimensions Of Climate For Innovation ทำให้หน่วยงานเกิดวัฒนธรรมแห่งการสร้างนวัตกรรม
  4. Innovation Process
    ใช้แก้ปัญหาโดยอาศัยกระบวนการออกแบบนวัตกรรม (Design Thinking) นำไปผสมกับ Lean startup วิทยากรปิดท้ายว่า

คุณค่านวัตกรรม = ไอเดีย x พัฒนา x ปัจจัยภายนอก  (สมการ V = I x D x E)

โดยปัจจัยภายนอกนั้น (E) มีผลต่อคุณค่านวัตกรรมมากที่สุด แต่ผู้บริหารมักมองที่ไอเดีย (I)ซึ่งไอเดียมีผลต่อคุณค่านวัตกรรม ฯ (V) น้อยที่สุด เพราะหลาย ๆ ครั้งไอเดียที่เห็นครั้งแรก
อาจจะดูไม่เข้าท่าในสายตาผู้บริหารแต่ก็สามารถสร้างสิ่งสำคัญได้ในภายหลัง วิทยากรจึงเปรียบกระบวนการสร้างนวัตกรรมว่าเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนจากลูกเป็ดที่อัปลักษณ์เป็นหงส์ที่สง่างาม

บทความนี้สรุปเนื้อหามาจากการบรรยายเรื่องการพัฒนาคนเพื่อสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดย นายทรงภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ผู้ก่อตั้งบริษัท Mind Dojo Co., Ltd. และ Managing Director and Master Facilitator)

เนื้อหาน่าสนใจในระดับใด

โปรดให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 4 / 5. นับคะแนน 1

ยังไม่มีใครให้คะแนนเลย มาเป็นคนแรกที่ให้คะแนนกันเถอะ