เมื่อวันพุธที่ 21 ก.พ. 2561 ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาเรื่อง disruptive technology กับการพัฒนาระบบราชการ โดยงานนี้มีที่ปรึกษาจากบริษัท Consulting ชื่อดังอย่าง Deloitte มาพูดถึงหัวข้อดังกล่าว ผมจึงขอนำมาเล่าให้ฟังแบบสบาย ๆ ในบทความนี้กัน
เป็นการรวมตัวของผู้บริหารภาครัฐเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ในงานนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายองค์การภาครัฐมาเข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การเปลี่ยนแปลงหน่วยงานของภาครัฐให้เท่าทันต่อ ยุค Disruptive technology โดยการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาระบบราชการ โดยมีแนวคิดที่ว่า
ระบบราชการของไทยนั้นต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ระบบราชการต้องเปิดและเชื่อมโยงกันเอง ทำงานแบบบูรณาการ รวมถึงการทำงานของภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมมากขึ้นด้วย
ระบบราชการต้องทำงานแบบทันสมัย วิเคราะห์ล่วงหน้า ออกแบบนโยบายเพื่อรองรับอนาคต
จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้เห็นหน่วยงานรัฐหันมาสนใจเรื่องของเทคโนโลยี ที่นับวันยิ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบราชการเพื่อบริการประชาชน
Disruptive technology หรือ Disruption คืออะไร
ผู้บริหารของ Deloitte USA กล่าวว่า Disruptive technology คือการที่เรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทดแทนสิ่งเดิมที่มีอยู่และส่งผลให้ผู้ใช้งานได้มีอะไรที่ดี สะดวกสบายมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า นวัตกรรมจะเกิด disruption ก็ต่อเมื่อ นวัตกรรมสร้างผลกระทบให้เห็นชัดเจน เช่น เรื่องผลกระทบของรถยนต์ Ford Model T ในช่วง ค.ศ. 1908 ที่มาแทนการใช้พาหนะเเบบเดิม ๆ
ทำไม Disruptive technology ถึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว
การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันมีความรวดเร็วและรุนแรงมากกว่าที่เคยเป็น กล่าวคือ ในอดีตนั้นการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเส้นตรง (Linear) ในขณะที่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเป็นไปแบบก้าวกระโดด (Exponential) โดยที่เปรียบเหมือนการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในกล่องที่รวดเร็วมากเกินกว่าจะคาดคิด
ยุคที่ข้อมูลกลายเป็นของมีค่า
ข้อมูลที่ทุกบริษัทมีนั้น กลับกลายมาเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมากในฐานะ asset ของบริษัท เพราะข้อมูลสามารถนำมาใช้ในแนวคิดจากล่างขึ้นบน (Bottom-up approach) เพื่อการพัฒนาไอเดียใหม่ ๆ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล
นอกจากนี้แล้วข้อมูลยังสามารถนำมาใช้เพื่อการปรับตัวในการรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้อีกด้วยโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า crowdsoucing หรือ collective wisdom คือ ให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ ร่วมกัน
ดังนั้นความสำคัญของข้อมูล คือ การกำกับดูแล (governance) ว่าจะจัดการข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างไร
Disruptive technology คือภัยร้ายหรือมิตรสหาย
ผู้บริหารของ Deloitte สิงคโปร์เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า นายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์เคยตั้งคณะกรรมการ future of economy โดยให้รัฐมนตรีพิจารณาว่า disruptive technology ว่ามีผลกระทบต่อประเทศอย่างไร
Disruptive technology มักจะเป็นศัตรูกับบริษัทที่มีอยู่ในตลาด และมักจะมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เล่นในตลาดเดิม เช่น กรณี Uber GrabTaxi เป็นต้นดังนั้นรัฐบาลจะทำอย่างไรระหว่าง
โอบรับให้เกิดการแข่งขันในยุคเสรีนิยม
กีดกันออกไปจากระบบ
ด้วยความเอาจริงเอาจังของภาครัฐในการผลักดันหลายโครงการให้เกิดขึ้น (ทั้งที่เป็นข่าวและอยู่เบื้องหลัง) ทำให้ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็น ประเทศไทยในอนาคต ยุค 4.0 ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน
หากท่านใดสนใจบันทึกการประชุมของงานในวันดังกล่าวให้ติดต่อผมมาเป็นการส่วนตัวเป็นกรณี ๆ ได้ครับ