วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Fintech challenge 2018 ที่ได้จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 โดย ก.ล.ต. โดยปีนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกันกับ ธปท. คปภ. และ สมาคมฟินเทคประเทศไทย จัดงานนี้ขึ้น งานนี้เป็นงานที่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าเป็นการเสวนา 4 ช่วงเสวนา ช่วงบ่ายมีการนำเสนอของ 12 ทีม ผมจึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
เริ่มต้นงานโดยกล่าวต้อนรับจาก เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.
- เราอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะใน 5 ปีข้างหน้าหลังจากนี้ที่การใช้ชีวิตจะแตกต่างไปเพราะเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก
- เลขาธิการฯ ตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ที่เทคโนโลยีจะนำไปสู่การเปิดของตลาดทุนในประเทศไทย และทำการยกตัวอย่างแอพพลิเคชั่นท่องเที่ยวเจ้าหนึ่งที่โฆษณาบนรถไฟฟ้าที่สามารถเข้าถึงคนมากถึง 12 ล้านคน มุ่งหวังว่าอยากให้คนไทยเข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีแค่ 2-4 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงตลาดทุน โดยกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า Democratize ตลาดทุน ให้เกิดการสร้างอิสรภาพทางการเงินและความมั่งคั่งของประชาชนโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ
- พูดถึงตลาดของ ICO และ คริปโตฯ เราได้ผ่านการเห่อแบบบ้าระห่ำมาแล้ว ซึ่งจุดนั้นมีคนได้รับประสบการณ์ทั้งทางด้านดีและไม่ดี นี่คือสาเหตุที่ทำให้มุมมองแต่ละคนที่มีต่อเทคโนโลยีดังกล่าวแตกต่างกันออกไป บางท่านมองว่าเป็นเรื่องดี และบางท่านก็มองว่าไม่ดี สำหรับตลาดดังกล่าวได้มีการพัฒนาจากเด็ก ๆ เป็นวัยรุ่นและคาดหวังว่าจะเป็นตลาดในวัยผู้ใหญ่ในเร็ววัน หวังว่าผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ตลาดดังกล่าว
- หน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแลต้องเข้ามาควบคุมด้วยแม้ว่าตอนนี้จะควบคุมแบบตกกระไดพลอยโจน ภาครัฐต้องมีการปรับแนวคิด และต้องกลับไปตรวจสอบตัวเองว่าต้องเดินไปข้างหน้ามากน้อยอย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหม่ ก.ล.ต. เป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ต้องมากำกับดูแลในขณะที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ในต่างประเทศกำลังสงวนท่าที การกำกับดูแลไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชนเช่นกัน
พิธีกรถามว่าในปี 2020 เห็นรูปแบบการทำธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง
- ภัทธีรา กล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแล้วคนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ลูกค้าต้องการการบริการที่ลงลึกขึ้น มากกว่าเดิม อาทิ ต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวมากกว่าการเทรดหุ้นรายวัน รวมถึงรูปแบบการทำธุรกรรมจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม วิธีการนำเสนอลูกค้าแต่ละคนจึงต้องแตกต่างไป โบรคเกอร์แบบเดิม ๆ จึงไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้บริษัทต่าง ๆ ในวงการต้องปรับตัว
- วศิน เห็นว่าบทบาทตัวกลางเริ่มไม่ชัดเจน ให้ดูใน 2 ปีนี้ มีการเเข่งขันระหว่างสินค้าข้าม บลจ. กัน (open architecture) ในเมืองไทยเรามี morning star และยังสามารถหาข้อมูลในอินเตอร์เนตเองได้ ทางบลจ. จึงพยายามให้นักลงทุนเป็นผจก. กองทุนด้วยตนเองเพราะสามารถหาข้อมูลเองได้ง่ายกว่าเดิม นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานเปิดมากขึ้น เช่น ในตลาดหลักทรัพย์ทำ fund connect ทำให้การซื้อขายสามารถข้ามค่ายได้ ตอนนี้เรามี 2000 กองทุน เรามีเทคโนโลยี machine reachable ที่สามารถเปรียบเทียบกองทุนได้ นอกจากนี้ยังมีการซื้อขาย offshore ได้ง่ายกว่าเดิมเพราะเทคโนโลยีและกฎหมายที่รองรับ เมื่อก่อน บลจ. หาข้อมูลโดย msexcel แต่ปัจจุบันเราใช้ AI ที่หาข้อมูลได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ภาษาในอุตสาหกรรมคือ จะทำอย่างไรให้ Alpha ดีขึ้น
- ธีรนันท์ เป็นห่วงเรื่อง speed ของเทคโนโลยีที่รวดเร็วแต่ตลาดทุนกลับไปข้างหน้าได้ช้า อาจจะเป็นเพราะโครงสร้างและการป้องกันที่มีแนวคิด Bank Dominance ทำให้ตลาดไม่ก้าวไปข้างหน้าเพราะไม่จำเป็นต้องปรับตัว ต้องฝ่ายต่างอยู่ใน comfort zone แต่ในต่างประเทศเขาไปข้างหน้าไวมาก (Dynamic) ทำให้เราสะสมความอ่อนแอเรื่อย ๆ จนถึงวันนึงหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเราอาจจะปรับตัวไม่ทัน หลายคนมองเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลักแต่ผมมองว่าปัญหาคือการจัดการบุคลากรของผู้บริหาร (โดยแซวว่าไม่เห็นผู้บริหารระดับสูงมาฟังในห้องนี้) สำหรับ Blockchain และ NDID ผมเห็นพัฒนาการแล้ว แต่เป็นห่วงเรื่อง AI เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่รองรับ และความเข้าใจใน AI ยังไม่มาก
- ภัทธีรา มองว่าเป็นเรื่องที่อยากก้าวไปข้างหน้าแต่ขาดโครงสร้างพื้นฐานกลาง รวมถึงระบบ legacy ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เช่น ตลท. ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องใช้เวลาเป็นปีเพราะต้องทดสอบแล้วทดสอบอีก รวมถึงระบบหลังบ้านของ บล. บลจ. ที่ต้องแก้ไขระบบให้รวดเร็ว คราวนี้มาพูดถึงค่าคอมฯ ว่าแรงกดดันด้านรายได้ ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องระมัดระวังกว่าเดิม ที่ห่วงคือไม่ใช่เรื่องค่าคอมแต่ห่วงว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าลงทุนได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น และสร้างผลกำไรได้เราพูดถึง robot และ algo trading นั้น ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ เพราะที่เป็นอยู่คือสินค้าคุณภาพยังดีไม่ถึงความคาดหวังยองลูกค้า
- วศิน เรารับเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้ช้า และเห็นว่าควรพิจารณา 3 เรื่อง คือ เรื่องแรกจะทำระบบภายในได้ดีขึ้นได้อย่างไร เรื่องที่สองทำให้อัลฟ่าที่ดีขึ้น และเรื่องสุดท้ายสร้างความผูกพันกับลูกค้า ข้อแรก ต้องพัฒนานะบบภายในให้ดีขึ้น เช่น ในหน่วยงานเวลาวิเคราะห์อะไร ใช้คน 3 คน วิเคราะห์เรื่องเดียว แล้วมาเถียงกัน ซี่งจะช้าไปแล้วสำหรับตลาด เราควรใช้ data analytic มาทำ dashboard นอกจากนี้ยังเพื่อสร้างความผูกพันในข้อที่ 3 ด้วย ข้อที่สอง คือ เจ้าของธุรกิจแต่ละเจ้าควรจะเลือกว่าตนเองถนัดด้านไหนแล้วเอาเทคโนโลยีมาสนับสนุน แล้วดูทิศทางตลาดว่าไปทางไหน หลังจากนั้นจะไปทิศทางเดียวหรือสวนทางเพื่อสร้างความแตกต่างก็ได้
- ธีรนันท์ อ้างถึงแนวคิด design thinking Agile Methodology แนวคิดพวกนี้เป็นเรื่องใหม่ เราต้องเรียนรู้จากฟินเทคอีกมาก นอกจากนี้จะทำอย่างไรให้เราสามารถเร่งการพัฒนาฟินเทคให้รวดเร็วกว่านี้ รวมถึงเรายังขาดคนที่มีทักษะในฟินเทค จึงควรพัฒนาคนผ่านมหาวิทยาลัยโดยให้ทุนการศึกษาเพื่อสร้าง ecosystem ของฟินเทค เราไม่ควรรอให้เกิดขึ้นแบบธรรมชาติ เพราะเรารอมาแล้วผลก็คือไม่สำเร็จ
- ทางด้านภัทธีราเห็นด้วย ส่วนตัวบล.อยากจะเป็นฟินเทค แต่ยังทำไม่ได้ หากร่วมมือกันจะเป็นการสร้างการขยายฐานลูกค้าจะดีกว่าอย่าคิดว่าแข่งขันกันเอง
- วีรวัฒน์ กล่าวว่าหากดูตัวเลขประชากรไทยเรามี 67 ล้านคน แต่เรามีบัญชีลงทุนแค่ 3 ล้านคน เพราะคนไทยยังขาดความมั่นใจในการลงทุน แนะนำว่าการลงทุนอาจจะเริ่มหาจากความเสี่ยงว่ารับได้แค่ไหน ขั้นที่สองคือจัดพอร์ตจากลงทุนให้เหมาะสมตามความเสี่ยงที่รับได้ ขั้นที่สามเลือกสินทรัพย์ตามผลงาน ขั้นที่สี่คือ ติดตามผลงานของพอร์ตที่ตั้งเอาไว้ เพราะผลงานจะแปรผันตามนโยบายเศรษฐกิจ ขั้นที่ห้าให้เจ้าหน้าที่อัพเดตข้อมูล โดย scb wealth advice มี 2 แบบ คือ investment center ที่ให้บริการครบวงจร และ advisor นอกสถานที่ที่ไปพร้อม digital platform เรียกว่า w plan ให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมโดย market conduct ในการควบคุมดูแล advisor 1000 คนทั่วประเทศ โดยต้องมีสินทรัพย์ 2 ล้านบาท (เรียกบริการว่า scb prime)
- วศิน กล่าวว่า K-asset ทำดิจิตอล platform (mobile application) เพื่อให้ลูกค้าเช้าถึงการลงทุน จะทำอย่างใรให้ลูกค้าเข้าใจว่าจะซื้ออะไร ซื้อเมื่อไหร่ และขายเมื่อไหร่ นี่คือคำถามสำคัญ แม้ว่าการลงทุนที่ถูกต้องคือ 5 ปี แต่ก็ถือว่านานเกินไปสำหรับลูกค้า ยึงต้องปรับลดเป็น 3 ปีผ่านการนำมาใช้ data มาใช้ ในระบบที่ว่านั้นมี fit line ว่าลูกค้าท่านใดควรจะอยู่จุดใดผ่านความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 4 เกรด s m l xl เหมือนระบบเป็นโค้ชให้ โดยลงทุนขั้นต่ำ 500 บาทของแต่ละกองทุน รวมก็ 2,000 บาท
- เจษฎา กล่าวว่าจุดที่น่าสนใจ คือ ขั้นที่หนึ่งคือรู้จักตนเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ขั้นที่สองคือจัดพอร์ตแต่ต้องทำหลังจากการได้ฝึกฝนหาความรู้ แล้วจึงนำมาลงทุนในขั้นที่สามที่มีความสะดวกสบายมากกว่าเดิม ที่ finnomena จึงให้ความรู้ในทุก ๆ ช่องทาง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องติดตามทางทีวีแต่เพียงอย่างเดียว เรียกบริการดังกล่าวว่า wealth advice for all โดยที่บริษัทของตนมองว่าต้องใช้ทั้งคนและเทคโนโลยีในการให้บริการลูกค้า
- วศิน อยากให้คนไทยเกิดพฤติกรรมการออม มีรายได้ก็ตัดเข้าการออม 15% ขั้นต่ำ แล้วจึงลงทุน เน้นย้ำว่าการลงทุนไม่เหมือนการเก็งกำไร การลงทุนคือผลตอบแทนในระยะเวลาที่ควรจะเป็น
- เจษฎา เดือนตุลาคมที่ผ่านมาตลาดลง 15% คนเราเวลาขาดทุนแล้วก็ขาดความเชื่อถือในตัวโบรคเดอร์ เราต้องดูว่าขาดทุนเพราะอะไร คนขายก็ต้องตามและคอยให้คำแนะนำต่อ ไม่ใช่หายตัว ทิ้งนักลงทุนไปเลย เพราะนักลงทุนได้ไม่กล่าวโทษคนขายเสมอไปหากคนขายมีเหตุผลในการอธิบาย
- วีรวัฒน์ ทิศทางธนาคารจะไปสู่ทางดิจิตอลมากขึ้นสังเกตจากจำนวนสาขาที่ลดลง ถ้าดูแล้วการทำการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งมีมากขึ้นเปรียบกันกับในอดีตคนขายจะขายเป็นหุ้นเป็นชิ้น ๆ แต่ในอนาคตก็จะมีการจัดพอร์ตและดูที่ความเสี่ยงเป็นหลัก
- จิรายุส สรุปแนวคิดที่สำคัญของ blockchain ไว้ว่า blockchain ได้สร้างแนวคิดดิจิตอลที่มีจำนวนจำกัด โดยได้ออกมาในปี ค.ศ. 2009 ระบบดังกล่าวทำหน้าที่วิ่งอยู่หลังบ้านโดยเราทำหน้าที่แชร์ข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลได้โดยไม่มีสำเนาข้อมูลทำให้ข้อมูลมีมูลค่าได้ ในขณะที่ในอดีตอินเตอร์เน็ตทำหน้าที่แชร์ข้อมูลเหมือนกันแต่มีการทิ้งสำเนาข้อมูลไว้ทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่มีมูลค่า จิรายุสอ้างถึง World Economic Forum ว่าในปี ค.ศ. 2025 จะมีการเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลมากกว่าเดิมไม่ได้จำกัดแค่เงิน ในด้านการทำธุรกิจนั้นอินเตอร์เน็ตยุคแรกทำให้เกิด online business ปัจจุบัน blockchain ก็เช่นกันทีทำให้เกิดการทำธุรกิจโดยไม่มีตัวกลางอีกต่อไป
- วัชระ อธิบายต่อว่าการทำ tokenization ต้องมีตัวกลางแล้วทำการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนได้ ซึ่งทำให้เกิด ICO หลายเจ้าในตลาด โดย blockchain จะทำหน้าที่ทำลายตัวกลาง ในต่างประเทศมีการทำสินค้าหลายอย่างให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล
- การดี ปัจจุบันเป็นเรื่องอินเตอร์เพื่อมูลค่า เช่น เราอยากเป็นเจ้าของคอนโดหรูอย่าง icon siam คงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าทำคอนโดฯ เเปลงเป็นดิจิตอล แล้วร่วมกันถือเราก็เป็นเจ้าของได้ จึงเห็นได้ว่าวิธีการคิดนี้ มีความเป็นไปได้ว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ และยังเกิดรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
- วัชระ การนำ blockchain มาใช้ต้องคำนึงถึงการกำกับดูแลให้ถูกต้องตามกฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการ market adoptation ด้วยกล่าวคือ คนจำนวนมากต้องเข้าใจและใช้งานโดยง่าย รวมถึงเชื่อมั่นในระบบ
- จิรายุส ได้เล่าเรื่องไว้อย่างน่าสนใจว่า ขอเปรียบว่าเรามี 2 เกาะ อันแรกคือเกาะโลกวัตถุ ที่เราทำธุรกิจต้องผ่านตัวกลางและช้า ในเวลาที่จำกัด ในขณะที่เกาะที่สองคือเกาะดิจิตอล ที่เราสามารถนำทรัพย์สินไปอยู่ในรูปแบบดิจิตอลที่ไร้ตัวกลางและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดขึ้นได้เราต้องสร้างสะพาน คือ cryptocurrency exchange ให้แข็งแรง ไม่มีการฟอกเงิน ถูกกฎหมาย เราต้องทำหน้าที่เป็น ICO Portal เหมือนเป็นวิศวกรในการสร้างอาคารในเกาะโลกวัตถุ นอกจากนี้ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้คนมากขึ้น
- การดี เมื่อเราเห็นอะไรใหม่ ๆ คนก็ไม่มั่นใจ จุดสำคัญคือเมื่อมีเกมส์ใหม่ก็ต้องใช้กฎใหม่ เพื่อป้องกันการหลอกลวง
- วัชระ เมื่อวันก่อนมีองค์กรขนาดใหญ่มาปรึกษาการใช้ blockchain ซึ่งเหมือน server ที่ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงให้แต่ละคนไม่ใช่เปิดให้ทุกคน ในรูปแบบนี้มีความจำเป็นในการนำไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ
- เมื่อพิธีกรขอให้วิทยากรทิ้งท้ายว่า อยากฝากอะไรไว้กับภาครัฐ
- การดี เห็นด้วยว่ารัฐควรจะนำ Blockchain ไปใช้ในภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานของรัฐก็สร้างจากภาษีประชาชน รัฐควรให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของโครงสร้างฯ ผ่านการถือโทเคน ขณะที่ จิรายุส อยากให้รัฐคว้าโอกาสครั้งนี้ไว้ วัชระ ต้องสร้างกฎเกณฑ์โดยหน่วยงานรัฐต้องทำการบูรณาการกัน การดี ในอดีตทำให้เราอยู่ในจุดนี้ แต่จะไปสู่อนาคตอย่ากังวลอดีตมากเกินไป
- พิธีกรเกริ่นว่า ปัจจุบันมีคนนำเอาคำว่า AI ไปใช้ในการตลาดอย่างแพร่หลาย แต่กลับมีความเข้าใจน้อย
- ทับขวัญ กล่าวว่า scb abacus ตั้งขึ้นมาเพื่อ explore เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้าทางการเงิน ทั้งฝั่ง lending และ saving เช่น การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ (เจ้าแรกในไทย) ให้เกิดความสะดวกรวดเร็วไม่ต้องใช้เอกสารโดยดึงข้อมูลจาก Lazada ผ่าน API เช่น ยอดขาย คะแนนเรทติ้ง เป็นต้น แล้วจึงกลั่นกรองด้วย AI ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ วันแรก ๆ AI ก็ยังไม่ฉลาดมากนัก แต่หลังจากนั้น AI ก็จะเกิดการเรียนรู้และทำงานได้ดีขึ้น สิริรวมใช้เวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้น และจะพัฒนาต่อให้ดีขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการใช้ mobile app ชื่อว่าเก็บหอม ช่วยออมทรัพย์ และเผือกหอม ช่วยจดรายรับรายจ่าย ผ่านการอ่านบิลโดยไม่ต้องพิมพ์ลงในระบบ หรือ เกมส์ถ่าย selfies ว่าเก็บเงินเก่งมั้ย รวมถึงน้องเพิ่มพูนที่แนะนำกองทุน บลจ. SCBAM
- นิรันดร์ มี AVA robo advisor และ AVA Alpha กองทุน robo เพื่อช่วยนักลงทุนให้เกิดผลตอบแทนมากขึ้น เพราะเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เช่น การขับรถ การเป็นศัลยแพทย์ การลงทุน เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามนุษย์มักจะไม่ประสบความสำเร็จในงานดังกล่าวหรือโอกาสผิดพลาดมีอยู่มาก นิรันดร์พูดถึงว่าส่วนใหญ่คนทำ daytrade คือ การหาสิ่งผิดปกติในวันนั้น ซึ่งงานแบบนี้ AI ทำได้ดีกว่ามนุษย์มาก ดังนั้น AI จะได้ให้คนทำ daytrade หายไป ในนิวยอร์คมี AI ทำ High frequency trade มากถึง 70% แล้ว เราจะปรับตัวอย่างไร เมื่อก่อน บล. เคยมีมาร์เกตติ้งช่วยลูกค้า แต่ AI ทำได้ดีกว่า มาก เชื่อว่าใน 5 – 10 ปีหลังจากนี้มนุษย์ต้องไปทำงานที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเดิม โดยเพิ่มเติมว่า robo advisor ยังเป็นการช่วยตัดสินใจให้มนุษย์ แบบ AVA alpha จะเป็นกองทุนที่ AI เป็นหลักแล้ว ผจก. กองทุนมาช่วยเสริม
- ธรรมธีร์ อธิบายไว้ว่าการทำ Big Data จำเป็นเพราะ AI กินข้อมูลเป็นอาหาร ที่บริษัทช่วยให้คำปรึกษาด้านดังกล่าว AI มีดีกรีว่าจะนำมาใช้เท่าไหร่ มากน้อยเพียงใด อาจจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ เช่น เล่นเกมส์แข่งกับ AI จนถึงขั้นสูงอย่างการแนะนำกองทุน สิ่งที่สำคัญคือมองว่าการนำ AI มาใช้ ต้องดูว่าคุ้มค่าแค่ไหน เทคนิคของผมคือ ต้องลองทำ AI tool ให้ใช้กับการทำ operation ภายในก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่าเพิ่งไปใช้กับลูกค้า ธรรมธีร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยอุตสาหกรรมยังเป็นต้นทางโดยขาดคุณค่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโลก ควรนำ AI มาช่วยด้านแรงงาน แล้วให้คนมาทำงานเพิ่มคุณค่า
- นิรันดร์ ในอดีตโลกที่เจริญคือมีแรงงานเยอะ เพราะสร้าง GDP ปัจจุบัน GDP สร้างโดยระบบอัตโนมัติและ AI ผมคิดว่าควรเร่งพัฒนาคือ AI Ecosystem และเข้าใจข้อจำกัดของ AI เหมือนว่าให้ผู้ประกอบการเข้าใจการขับรถยนต์ไม่ใช่เข้าใจว่าสร้างรถยนต์อย่างไร
- ทับขวัญ อธิบายว่า AI ต้องการข้อมูล วิสัยทัศน์ของบริษัทคือต้องการให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของข้อมูล ที่เห็นในอนาคตคือกฎหมายด้านข้อมูลส่วนตัวที่ล้อไปตามกฎหมายข้อมูลของยุโรปจะเกิดขึ้น ดังนั้นแทนที่เราจะรอให้คนมาขอข้อมูล จะเปลี่ยนเป็นการที่บริษัทเดินไปขอข้อมูลลูกค้าแลกกันกับบริการตอบแทนที่น่าพอใจ
— จบส่วนเนื้อหารอบเช้า ช่วงบ่ายเป็นการพิจารณาทีม startup —
ปิดท้ายด้วยการกล่าวเปิดงานช่วงบ่ายโดย คุณกรณ์ จาติกวณิช
สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในกระทรวงการคลัง ในกระทรวงฯ เคยร่างแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุน พบว่าในแผนฯ ไม่มีคำว่าฟินเทค บลอคเชน หรือ คริปโตฯ เลยเพราะ ณ วันนั้นยังไม่มีใครทราบเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ นี่จึงเป็นจุดที่เป็นสัญญาณให้กับทุกคนว่า เราทุกคนต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
เมื่อ 4 ปีที่แล้วได้เริ่มมาสนใจเรื่องธุรกิจสตาร์ทอัพจนจัดตั้งสมาคมฟินเทคประเทศไทย ขึ้น โดยต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีให้คนไทยเข้าถึงการเงินในระบบ / ลดต้นทุนการเข้าถึงแหล่งการเงิน / เป็นแหล่งบ่มเพาะให้เกิดการแข่งขันธุรกิจทางการเงิน / ส่งเสริม startup ไทยเข้าสู่ตลาดไทย ภูมิภาค และทั่วโลก โดยในประเทศไทยมี startup fintech 200 ราย โดยเข้ามาเพื่อแก้ไข pain points ในการเข้าถึงการลงทุนของประชาชน ประเทศไทยมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้มากอันดับต้น ๆ ของโลก อาทิ ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อแบบ p2p เป็นต้น