กรุงเทพฯ ประเทศไทย

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน Collaborative Governance

เนื่องจากการบริหารงานภาครัฐจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมอันเนื่องมาจากปัจจุบันการบริหารงานภาครัฐมีความซับซ้อน และแก้ปัญหาได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงประชาชนมีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในฐานะเป็นพลเมืองอันเป็นผลให้ มีการเรียกร้องสิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย และบริหารงานภาครัฐมากขึ้น จึงเกิดรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินที่เรียกว่าการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมถูกปลูกฝังเข้าไปในระบบราชการอย่างเป็นทางการจากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2545 ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ในมาตรา 71/9 ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาระบบราชการโดยเป็นส่วนราชการ ในสำนักนายกรัฐมนตรี

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (Collaborative Governance) หมายถึง การกำหนดรูปแบบการบริหารราชการของส่วนราชการที่เปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วน

โดยให้มีช่องทางและโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลการดำเนินงานของส่วนราชการ รวมถึงร่วมคิด ร่วมเสนอความคิดเห็น รวมถึงกำหนดทิศทางของโครงการและนโยบายของรัฐ เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งของการดำเนินการนโยบายของรัฐ รวมทั้งเพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการยอมรับการดำเนินการของรัฐอีกด้วย ซึ่งการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

จากทุกภาคส่วนนั้นภาครัฐจะต้องปรับบทบาทของตนให้เป็นผู้สร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบัน (collaborator) โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา นอกจากนี้แล้วภาครัฐยังต้องเสริมสร้างศักยภาพแก่ภาคประชาชนในด้านการอบรมและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นการช่วยสนับสนุนและมีความสอดคล้องกับการปกครองที่ใช้หลักธรรมาภิบาล รวมถึงการสนับสนุนและตอบสนองต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้แล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการพัฒนาระบบราชการจากเดิมที่เป็นแบบจากบนลงล่าง (top – down approach) มาสู่แนวทางการพัฒนาระบบราชการจากล่างขึ้นบน (bottom – up approach) มากขึ้น โดยหน่วยงานราชการที่สนับสนุนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น มีลักษณะที่เน้นการสื่อสารที่เป็นรูปแบบของการสื่อสารสองทาง โดยรับฟังและนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาพิจารณาก่อนการตัดสินใจขององค์กร

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมนั้น องค์กรสากลที่ชื่อ International Association for Public Participation (IAP2) ซึ่งส่งเสริมและพัฒนาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมเพื่อที่หน่วยงานราชการจะสามารถเลือกและตัดสินใจออกแบบการบริหารราชการแผ่นดินได้ โดยมีทั้งหมด 5 ระดับดังนี้

  • ระดับที่ 1 คือ การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน (To Inform)
  • ระดับที่ 2 คือ การปรึกษาหารือหรือการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (To Consult)
  • ระดับที่ 3 คือ การให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทหรือเกี่ยวข้อง (To Involve)
  • ระดับที่ 4 คือ การสร้างความร่วมมือกับประชาชน (To Collaborate)
  • ระดับที่ 5 คือ การเสริมอำนาจแก่ประชาชน (To Empower)

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น แนวคิดดังกล่าวเริ่มได้รับการรับรองสิทธิการเข้ามามีส่วนร่วมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และระเบียบดังกล่าวได้รับการปรับปรุงเป็น พ.ศ. 2548 หลังจากนั้นได้รับการตอกย้ำถึงความสำคัญ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 2550 และ 2560 นอกจากนี้ยังมีระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีพ.ศ. 2546 สำหรับยุทธศาสตร์นั้นมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2550 พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2561

การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ

คุณปัญญา โตกทอง ประธานกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน ตำบลแพรกหนามแดง

ประชาชนมักกล่าวว่า ข้าราชการหวังดี เจตนา แต่ไม่เข้าใจ

ข้าราชการได้ความร่วมมือแต่ไม่ได้การมีส่วนร่วม

สนใจแต่ข้อมูลไม่ได้สนใจที่มาของข้อมูล

คุณปัญญา โตกทอง

ผู้พูดเล่าถึงเหตุการณ์แม่น้ำแม่กลองวิปโยค เพราะหน่วยงานรัฐมาสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ทำให้น้ำจืดหาย น้ำเค็มเข้ามาได้ เมื่อชาวบ้านมาเปิดประตูระบายน้ำ น้ำเค็มก็เข้ามาเน่าในบริเวณน้ำจืด เกิดปัญหาในท้องที่

เมื่อเกิดปัญหาบริเวณดังกล่าว ผู้ว่าราชการและนายอำเภอมาประชุมจำนวนมาก เพราะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ผู้นำชุมชนเท่านั้นที่สามารถอธิบายความได้ เพราะประชาชนที่พบปัญหาจริง ๆ ไม่สามารถทำได้ เมื่อได้ความจากปากคนที่ไม่ได้ทำงานจริง การแก้ไขก็กลายเป็น ลิงแก้แห  คุณปัญญาแนะนำว่า ต้องบอกปัญหาพร้อมเสนอทางแก้  

ในการแจ้งปัญหาที่พบในชุมชน เช่น โรงงานปล่อยน้ำเสีย คุณปัญญาเก็บหลักฐานแล้วแจ้งนักข่าว เพราะเชื่อว่า นักเลงกลัวตำรวจ ตำรวจกลัวนักข่าว นักข่าวกลัวนักเลง

แต่เมื่อร้องเรียนไม่ได้ ก็กลายเป็นร้องค่าเสียหาย โรงงานก็ฟ้องกลับ คุณปัญญาเล่าว่าปัญหาดังกล่าวยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง จึงแก้ไขโดยใช้วิธีการดังนี้

1.ช่องทางภาคประชาชน

สร้างกระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม หาพี่เลี้ยง พันธมิตร สร้างเครือข่ายกับกลุ่มอื่นนอกชุมชน สู่ประชาคมคนรักแม่กลอง สู่สภาทนายความกลุ่มออมทรัพย์ เกิดกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน เพราะคิดว่า เหล็กใช้ความร้อนเชื่อม ปูนใช้น้ำเชื่อม คนใช้เงินเชื่อม

คุณปัญญาเล่าว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด การได้ข้อมูลนั้นต้องได้ข้อเท็จจริงไปด้วย จึงร่วมทำงานวิจัยกับ สกว.

จึงพัฒนาโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ในเเรกเริ่มจะขาดผู้เสียสละ ผ่านไป 2 ปี ได้มา 40,000 บาท ในงานแรกที่ชวนคนมาทำเวทีครั้งแรกเราผิดหวัง แต่ก็ไม่ท้อใจเอามาถอดบทเรียน เหมือนทำงานคอมฯ แล้ว save คือ เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ จึงเปลี่ยนเป็นเวทีแบบย่อย จึงเปลี่ยนวิธีการคุยเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนกับผู้สูงอายุทำหน้าที่เป็น moderator ให้ตั้งคำถามด้วยความรู้เพื่อได้ความรู้กลับมา  เมื่อผู้สูงอายุพูดลูกหลานก็ฟังกัน โดย 3 ขั้นตอน คือ

1.  การจุดไฟ (จุดประเด็น)

2.  ใส่เชื้อ

3.  เกื้อกูลหนุนศรัทธา

2.ช่องทางรัฐ

บริหารราชการส่วนตำบล ส่วนจังหวัด เป็นต้น การทำงานด้วยระบบราชการล่าช้า ใช้เครื่องมือที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่ากันกับคนที่เข้าใจพื้นที่

ท้ายสุดเกิด MOU ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และการสร้างองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน

รวมคำพูดที่น่าสนใจของคุณปัญญา

ต้องเข้าใจความรู้ท้องถิ่น อาทิ โลกมีหน้าที่กำหนดวันและน้ำขึ้นน้ำลง ดวงจันทร์กำหนดเดือนกำหนดน้ำเกิดน้ำตาย ดวงอาทิตย์กำหนดปีกำหนดฤดูกาล

ทำงานมวลชนต้องเสียสละเป็น ปิดทองก้นพระ

กัดไม่ปล่อย

อ่านนิสัยคนให้ออก

ทำงานด้วยความศรัทธา โดยโจทย์ที่ชัด อย่าแวะข้างทาง

คุยกับทุกคนด้วยความรู้สึกในระดับเดียวกันไม่ให้มีความรู้สึกสูงต่ำไปกว่ากัน

ทฤษฎีมีแค่เปลือกแต่ปฏิบัติคือแก่น

เป็นลูกต้องร้องให้พ่อแม่ได้ยินเมื่อพ่อแม่มาก็พูดจาด้วยดี ๆ

คุณปัญญา โตกทอง

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีก 1 เรื่อง

กลไกประชารัฐเชิงบุกรุกถึงก้นครัวลดโรคเรื้อรัง

บรรยายโดยนิพนธ์ เงินคงพันธ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าคา คุณนิพนธ์เริ่มนำเสนอคลิบวิดีโอ 3 นาทีที่ประมวลผลงานในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

สามารถสมัครได้ที่ https://awards.opdc.go.th/awardsregister/

ทำงานด้วยวิสัยทัศน์ ค่านิยม อัตลักษณ์ของทีมงานท่าคา โดยคิดว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ข้าราชการทำให้ประชาชนทำฝ่ายเดียว ้รับรางวัลเลิศรัฐ จาก ก.พ.ร. ทำให้ทีมงาน ชุมชน บุคคล มีขวัญกำลังใจที่ดี

ข้อมูลของตำบลท่าคา

ตำบลท่าคามี 12 หมู่บ้าน รพ.สต. 2 แห่ง คือ ท่าคา และบ้านคลองพลับ 1,232 หลังคาเรือน มีโรค 819 หลัง แม้ว่าปัจจุบันประชากรอยู่ในวัยทำงานทำงานอยู่โรงงานที่สมุทรสาคร แต่ในอนาคตจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่จะมีโรคเรื้อรังแทน

ผู้ป่วยมีโรคทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบเลือด โรคตา และระบบย่อยอาหาร มีผู้ป่วยเฉลี่ย 1,704 ครั้งต่อเดือน 61 ครั้ง/วัน ค่ารักษาเฉลี่ย 40.18 บาท/ครั้ง

การค้นหาปัญหา

หากจะทราบปัญหาของชุมชน ต้องทำประชาคมหมู่บ้าน เกิดแผนงาน/โครงการตามบริบทพื้นที่ ได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน เมื่อทราบปัญหาก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญ และต้องใช้ตัวชี้วัดในการวัดผลการดำเนินการ

นำเอางานประจำมาทำวิจัย R2R หลังจากนั้นให้นำผลวิจัยไปทำเป็นโมเดลให้กับคนที่สนใจในการนำไปใช้ โดยโมเดลต้องเข้าใจได้ง่าย

แบ่งกลุ่มประชาชนเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย โดยมีกลยุทธ์รับมือแตกต่างกัน

1.  กลุ่มปกติ ตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพปีละครั้ง

2.  กลุ่มเสี่ยง จัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

3.  กลุ่มป่วย จัดคลินิกบริการและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของผู่ป่วยเรื้อรัง

เกิดโครงการต่าง ๆ

เกิดมาจากผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนในพื้นที่ด้วย ที่เน้น 3 ด้าน

1.  ให้ความรู้

2.  สร้างแรงจูงใจ

3.  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เกิดตลาดนัดเพื่อสุขภาพ โครงการเข้าถึงชุมชน

สร้างชมรมตลาดนัดเพื่อสุขภาพ โดยมี 97.69% ของร้านค้ามาเข้าร่วมเป็นภาคี หลังจากนั้นก็สำรวจความเห็น พบว่ามี 6 ประเด็น คือ ลดหวานมันเค็ม ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์มี อย. พ่อค้าแม่ค้ามีวาจาสุภาพ รักษาความสะอาด

บ้านนี้ปลอดโรค โครงการเข้าถึงครัวเรือน

ลงพื้นที่ไปตรวจสอบครัวเรือน หากบ้านใดไม่มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไม่มีกลุ่มเสี่ยง ก็จะได้รับรางวัล บ้านนี้ปลอดโรค

บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โครงการเข้าถึงบุคคล

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล เฝ้าระวังความรุนแรงและการแทรกซ้อนของโรค หากประชาชนให้ยาพื้นบ้าน หมอไม่เชื่อ แต่ก็จะทดลองก่อน หากใช้ได้ผลจะนำไปใช้ต่อ นอกจากนี้ให้เน้น 3 อ. 2 ส. แต่ก็ต้องดูบริบทพื้นที่ด้วย

อ.ที่ 1 คือ อาหาร รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ ครบทั้ง 5 หมู่ ลดความหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันซ้ำหลายๆ ครั้ง กินอาหารหลากหลายไม่จำเจ

อ.ที่ 2 คือ ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้แข็งแรง อายุยืน โดยออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที และทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน

อ.ที่ 3 คือ อารมณ์ เลือกวิธีที่ถนัด สนใจ ทำแล้วเพลิดเพลิน ลดความเครียด มีความสุข เช่น ฟังเพลง ร้องเพลง ดูโทรทัศน์ นอนหลับพักผ่อน ปลูกต้นไม้ พูดคุยพบปะกับเพื่อนฝูง

ส.ที่ 1 คือ ลดการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง ปอดอุดตันเรื้อรัง และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ส.ที่ 2 คือ ลดการดื่มสุรา การดื่มสุราทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดโรคหัวใจ เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็ง ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

วัดผลโครงการ

เมื่อวัดผลยอดผู้ป่วยนั้นต้องเน้นการลดกลุ่มเสี่ยง ลดค่าใช้จ่าย ความพึงพอใจของประชาชนและเจ้าหน้าที่

เผยแพร่วิจัย R2R ในรูปของโมเดล

ปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรัง คือ ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต ดัชนีมวลกาย และรอบเอว (เกิน 80 ซม. ผู้หญิง 90 ซม. ผู้ชาย 80 ซม.)

เกิดเป็น THAKA HEALTHY MODEL  ประกอบไปด้วย 5 วงจร

1.  ภาคีเครือข่าย

2.  ภาระหน้าที่

3.  การผลักดัน

4.  ชูประเด็น

5.  พัฒนาต่อเนื่อง

ทั้งหมดต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี สุขภาพจิตที่ดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างต้นแบบรางวัลจูงใจ ให้เกิดการใส่ใจในชุมชน ครอบครัว รายบุคคล

โมเดลนี้ยังสามารถนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ได้ อาทิ ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร

ที่มา

พัชรี สิโรรส และพรทิพย์ แก้วมูลคำ (2560, ธันวาคม) “การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม: ตัวแบบและกรณีศึกษาสู่ความสำเร็จ” วารสารการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน : 136 – 15

พิธุวรรณ กิติคุณ (2559, สิงหาคม) “การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของประชาชน”
Academic Focus: 1 – 16

นางพรทิพย์ แก้วมูลคำ (2560, มิถุนายน) “การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม: เทคนิควิธีและการนำไปสู่การปฏิบัติ” (พิมพ์ครั้งที่ 1) กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม

เนื้อหาน่าสนใจในระดับใด

โปรดให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 5 / 5. นับคะแนน 1

ยังไม่มีใครให้คะแนนเลย มาเป็นคนแรกที่ให้คะแนนกันเถอะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *