กรุงเทพฯ ประเทศไทย

เทคโนโลยีที่ใช้ไขคดี หวย 30 ล้าน ครูปรีชา

เทคโนโลยีที่ใช้ไขคดี หวย 30 ล้าน ครูปรีชา

ไม่นานมานี้ ผมได้นั่งอ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดี หวย 30 ล้าน ครูปรีชา (นายปรีชา ใคร่ครวญ) เป็นโจทก์ ฟ้อง หมวดจรูญ​ (ร้อยตำรวจโท หรือ ร้อยตำรวจตรี หรือ นายจรูญ วิมูล) จำเลย เรื่อง ยักยอก รับของโจร อย่างละเอียด ผมเห็นว่า คดีดังกล่าวจบลงได้เพราะการใช้เทคโนโลยี จึงขอถือโอกาสนี้เล่าถึงเทคโนโลยีที่ใช้ไขคดี หวย 30 ล้าน ครูปรีชา กันครับ

เรื่องย่อ

คนขวามือ คือ ครูปรีชา คนซ้ายมือ คือ หมวดจรูญ
ที่มาของรูปจาก https://www.brighttv.co.th/news/local/preecha-jaroon-drama-lottery

เรื่องมีอยู่ว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 – ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ณ ตำบลบ้านเหนือ จังหวัดกาญจนบุรี ครูปรีชาทำหวยที่ซื้อที่ตลาดนัดชื่อว่า เรดซิตี้ หายไป ซึ่งปรากฏภายหลังว่าหมวดจรูญเป็นผู้หยิบได้แล้วนำไปขึ้นรางวัล ดังนั้น ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ครูปรีชาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี  ต่อมา

ครูปรีชานัดกันกับหมวดจรูญเพื่อไปเจรจากันในห้องรองผู้กำกับฯ คุยไปคุยมา ทั้ง 2 คนจึงเลือกว่าจะเลือกทางวิน-วิน คือ แบ่งกันคนละครึ่ง (คนละ 15 ล้าน แต่จริง ๆ ก็ไม่ถึงนะครับ เพราะว่า เงิน 30 ล้านต้องเสียภาษีไป 1 แสนกว่าบาทหลังขึ้นเงินแล้ว)

หมวดจรูญ แกบอกว่าเดี๋ยวขอไปปรึกษาเมียก่อน ปรากฏว่า 5 นาทีหลังจากนั้น เมียกลับมาไม่ยอมแบ่งเงินรางวัลให้ แล้วก็ด่าครูปรีชาว่าเป็น ครูขี้โกง เรื่องนี้ก็เลยต้องพิสูจน์พยานและหลักฐานกันตั้งแต่ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2563 เรียกได้ว่ากินเวลาประมาณ 3 ปี กว่าเรื่องจะจบลง

การสู้กันด้วยพยานและหลักฐาน

ครูปรีชา หาพยานบุคคลที่เป็นแม่ค้าขายหวย และแม่ค้าขายกับข้าวมาสู้ ในขณะที่หมวดจรูญ ใช้พยานบุคคลที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมมาสู้

pexels rosemary ketchum
รูป Man Wearing Black Officer Uniform โดย rosemary ketchum

แต่อย่างไรก็ตาม พระเอกของเรื่องนี้ คือ นายตำรวจท่านหนึ่ง ที่ จบ ป.ตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ และ ป.ตรี นิติศาสตร์ ใช้ซอฟต์แวร์ในการดึงข้อมูลจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกมาใช้ในการสอบสวนข้อเท็จจริง

เทคโนโลยีที่ใช้ไขคดี หวย 30 ล้าน ครูปรีชา

1. เทคโนโลยีโทรคมนาคม ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้เก็บข้อมูลการใช้งาน ได้แก่

1.1 วันเวลาการใช้งาน

1.2 ระยะเวลาและเวลาสิ้นสุดการใช้งานแต่ละครั้ง

1.3 หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อหมายเลขรหัสประจำซิมการ์ด (IMSI)

1.4 หมายเลขรหัสประจำเครื่องลูกค้า (IMEI)

1.5 หมายเลขรหัสพื้นที่การใช้งานของลูกค้า (LAC)

1.6 หมายเลขรหัสเสาสัญญาณ (Cell ID) 

1.7 ชื่อเสาสัญญาณ (Site Name)

ทั้งนี้ มีการจัดเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 เดือน ซึ่ง 1.6 หมายเลขรหัสเสาสัญญาณ (Cell ID) ถูกใช้เป็นตัวเอกของเรื่องนี้เพื่อการระบุโลเคชันว่าครูปรีชาอยู่ตำแหน่งใดขณะใช้โทรศัพท์

2. ซอฟต์แวร์ในการดึงข้อมูลจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกมาใช้

นายตำรวจที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้ ได้ใช้ ซอฟต์แวร์ ชื่อว่า XRY ซึ่งเป็นโปรแกรมดึงข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางนิติเวช ประกอบด้วย

1. ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ติดต่อกัน ระยะเวลาการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละครั้ง การใช้แอปพลิเคชัน 

2. ข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ ได้แก่ รายชื่อที่ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกไว้

3. ข้อมูลเสียง วิดีโอ และภาพ บันทึกเสียงสนทนา

ทั้งนี้ การคัดลอกข้อมูลแต่ละครั้ง จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลค่า HASH กำกับไว้ หากมีการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติม ข้อมูลค่า HASH จะเปลี่ยนไปจากค่าเดิม

ซึ่ง 3. ข้อมูลเสียง วิดีโอ และภาพ บันทึกเสียงสนทนา ถูกใช้เป็นตัวเอกของเรื่องนี้เพื่อตรวจสอบว่าครูปรีชาคุยกับพยานว่าอย่างไรบ้างทางโทรศัพท์เคลื่อนที่

ดังนั้นจะได้เห็นว่า

1. เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการใช้ไขคดี หวย 30 ล้าน ครูปรีชา  

2. การบันทึกดักฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอยู่จริง

3. มนุษย์เมียมีส่วนสำคัญของเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายหลายคน รวมทั้ง หมวดจรูญ

เนื้อหาน่าสนใจในระดับใด

โปรดให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 4.5 / 5. นับคะแนน 2

ยังไม่มีใครให้คะแนนเลย มาเป็นคนแรกที่ให้คะแนนกันเถอะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *