ตัวผมเองได้รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญและจังหวัดเสียมราฐตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ลงพื้นที่ แต่เนื่องจากเนื้อหามีประโยชน์มาก ผมจึงขอนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกัมพูชา (National Museum of Cambodia)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา หรือ สารมนเทียรชาติ ตั้งอยู่ที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีวัตถุสำคัญกว่า 14,000 ชิ้น ตั้งอยู่ที่ถนน 13 ใจกลางกรุงพนมเปญ อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล และอยู่ทางทิศตะวันตกของจัตุรัส Veal Preah Man ทางเข้าพิพิธภัณฑ์อยู่ตรงหัวมุมแยกถนน 13 และถนน 178 อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศิลปวัฒนธรรม อาคารพิพิธภัณฑ์ ใช้สถาปัตยกรรมเขมร ก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1917 – 1924 เปิดใช้งานครั้งปี ค.ศ. 1920 และได้รับการปรับปรุงในปี ค.ศ. 1968
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้ออกแบบและก่อสร้างโดยใช้ศิลปะแบบผสมผสานระหว่างขอมกับฝรั่งเศส เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความวิจิตรงดงามทั้งภายในและภายนอก สถานที่แห่งนี้นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชม เพราะเป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณวัตถุเก่าแก่นับพันปีที่พบในกัมพูชาไว้มากมายอาทิ เทวรูปพระวิษณุเก่าแก่นับพันปี รูปแกะสลักเศียรพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรูปหล่อพระนารายณ์บรรทมสินสำริดและที่โดดเด่นก็คือเทวรูปศิลาแกะสลักขนาดใหญ่ที่งดงามราวชลอองค์เทพมาลงจากสวรรค์นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงหัตถกรรมจากไม้ งานแกะสลักหินและงานศิลปะพื้นบ้านของเขมรด้วย
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกัมพูชาเก็บค่าผ่านประตูจากนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยดังนี้
อายุ (ปี) | ค่าเข้า (USD) | ค่าหูฟัง (USD) | ค่าใช้จ่ายรวม (USD) |
0 – 9 | ฟรี | 5 | 5 |
10 – 17 | 5 | 5 | 10 |
มากกว่า 18 | 10 | 5 | 15 |
เวลาเปิด-ปิด: เวลา 8.00 – 17.00 น.
– ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา และ http://hometheatrefrisco.com/panompan-museum/
พระราชวังหลวงกรุงพนมเปญ (Royal Palace, Phnom Penh)
พระราชวังหลวง สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะเขมรโดยความช่วยเหลือของฝรั่งเศสในปี 1866 และใช้เป็นที่ประทับของเจ้านโรดมสีหนุ นับจากที่เสด็จกลับคืนสู่กรุงพนมเปญในปี 1992 เป็นต้นมา สถานที่ส่วนใหญ่ภายในเขตพระราชวังเปิดให้เข้าชมได้ ยกเว้นเขตหวงห้ามบางเขต เช่น เขตพระราชฐานที่ประทับ
พระราชวังหลวง เป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่เป็นที่ประทับของราชวงศ์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ชื่อเต็มในภาษากัมพูชา คือ “เปรี๊ยะบรมเรียเชียแวงจักตุมุก” (พระบรมราชวังจตุมุข) พระราชวังหลวงในกรุงพนมเปญมีอาคารที่แตกต่างกันและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมในปัจจุบัน
อาคารพระราชมนเทียรของพระมหากษัตริย์กัมพูชา
- พระที่นั่งจันทรฉายา มีรูปแบบเป็นศาลาโถง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังหลวง ใช้เป็นสถานที่แสดงนาฏศิลป์เขมรโบราณ ในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ หรือพิธีเฉลิมฉลองต่างๆ และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของพระราชวังหลวงแห่งนี้
- พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย (ท้องพระโรง) ตั้งอยู่ตรงกลาง ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ ใช้สำหรับงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ หรือพระราชพิธีอภิเษกสมรส และเป็นที่เสด็จออกรับสาส์นตราตั้งจากเอกอัครราชฑูตของต่างชาติ
- พระที่นั่งนโปเลียนที่ 3 เป็นตำหนักที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 สร้างประทานแด่จักรพรรดินีเออเชนี ต่อมาองค์จักรพรรดิดินีมีรับสั่ง ให้รื้อถอดออกเป็นชิ้นๆ ส่งลงเรือมาประกอบขึ้นใหม่เป็นของขวัญถวายแด่สมเด็จพระนโรดมที่กรุงพนมเปญใน ทศวรรษที่ 1870
- พระราชวังเขมรินทร์ สร้างขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ตามรูปแบบศิลปะเขมร มีความคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังของไทย
พระราชวังหลวงกรุงพนมเปญเก็บค่าผ่านประตูจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ USD 10
เวลาเปิด-ปิด: เวลา 7.30 – 11.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.
– ที่มา http://www.govivigo.com
วัดพนม (Wat Phnom)
วัดพนมเป็นวัดเก่าแก่สร้างบนภูเขากลางกรุงพนมเปญ ตามคำบอกเล่าของพระรึดธี โบะรา เจ้าอาวาสวัด หลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ได้มีเศรษฐีนีชาวเขมรชื่อเพ็ญพบท่อนไม้ลอยมาตามน้ำและในท่อนไม้นั้นมีพระพุทธรูปซ่อนอยู่ถึงสี่องค์ จากการมีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนา เธอจึงใช้ทรัพย์ส่วนตัวสร้างวัดขึ้นบนยอดเขาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเหล่านี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป 4 องค์ในวัดพนมทำให้ประชาชนมาปลูกบ้านอยู่ในบริเวณรอบวัดนับวันมากขึ้นจนกลายเป็นเขตชุมชนและในที่สุดก็ขยายกลายเป็นกรุงพนมเปญในปัจจุบัน โดยที่พนมหมายถึงภูเขา ส่วนเพ็ญคือชื่อของผู้หญิงที่สร้างวัดนี้
ความน่าสนใจประการหนึ่งที่เว็บไซต์หลาย ๆ ที่ไม่ได้เขียนถึงวัดพนมก็คือ ในที่แห่งนี้มีศาลเจ้าจีนอยู่ด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมีชาวจีนมาเยี่ยมชมวัดพนมจำนวนไม่น้อย
ถ้าสังเกตุให้ดีจะมีรูปปั้นของทั้ง 2 เทพ ที่น่าสนใจ คือ 2 องค์บริเวณตรงกลาง โดยด้านซ้าย คือ เทพเจ้าแห่งดิน (ผมคิดว่าน่าจะเป็นตี้จู่เอี้ย) และด้านขวาคือ พระถังซัมจัง โดยที่ตั้งอยู่สมัยยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ (พ.ศ. 2518 – 2522) แต่ภายหลังเนื่องจากความศรัทธาจึงมีประชาชนนำรูปปั้นเทพเจ้าจีนอื่น ๆ มาตั้งเอาไว้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ At Wat Phnom, a Khmer shrine makes room for Chinese beliefs
ค่าบริการสำหรับชาวต่างชาติ 1 USD เปิดตั้งแต่ 8:00 – 19:00 น.
นครวัดและนครธม (Angkor Wat and Angkor Thom)
นครวัด เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเท่ากับ 402 เอเคอร์) แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัฐและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือในลัทธิไศวนิกายของกษัตริย์องค์ก่อน ๆ เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ และเนื่องจากเป็นปราสาทที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในบริเวณที่ตั้งโดยรอบ
นครวัดจึงเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง โดยนครวัดถือจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา มีการปรากฏอยู่บนธงชาติ และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยว
นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด
นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่นๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม อาทิ ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก
นครธม เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรกๆ และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรัชทายาท ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่า ปราสาทบายน และมีพื้นที่สำคัญอื่น ๆ รายล้อมพื้นที่ชัยภูมิถัดไปทางเหนือ จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้า 4 หน้า ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมจะพบสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ อีก 3 ด้าน
นครวัดและนครธมเก็บค่าผ่านประตูจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนี้
- บัตร 1 วัน USD 37
- บัตร 3 วัน USD 60
- บัตร 7 วัน USD 72
เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี (ต้องใช้ passport ในการเข้าชม )
– ที่มา th.wikipedia.org และ https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_193522