กรุงเทพฯ ประเทศไทย

ควรให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้านได้หรือไม่?

pexels photo e1539832836476

เมื่อผมถามคำถามดังกล่าวในที่สาธารณะ ผมอาจจะได้รับผลตอบรับใน 2 ทิศทางอันแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว กล่าวคือ ถ้าไม่ด่าผมอย่างรุนแรง ก็เห็นด้วยกับผมอย่างสุดตัว

ก่อนที่จะให้คำตอบว่า “ควร” หรือ ”ไม่ควร” ให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้านหรือที่คำภาษาอังกฤษเรียกกันอย่างติดปากว่า “Work From Home” นั้น ผมขออนุญาตเล่าเรื่องที่น่าสนใจให้ทุกท่านได้อ่านกันโดยสังเขป

ทุกวันนี้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารมีการขยายตัวและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มมีการเปิดโอกาสให้พนักงานภายในองค์กรของตนสามารถทำงานจากบ้านได้

ในปี พ.ศ. 2560 มีรายงานฉบับหนึ่งที่เสนอต่อรัฐสภาชื่อว่า  Status of Telework in the Federal Government โดย United State Office Of Personnel Management ประเทศสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเปรียบเหมือนสำนักงาน ก.พ. ของประเทศไทย) ได้ทำการสำรวจตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐของกระทรวงต่าง ๆ ว่าตำแหน่งใดสามารถทำงานจากบ้านได้ หลังจากนั้นได้ทำการเปิดโครงการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในกลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมโครงการทำงานจากบ้าน รายงานกล่าวว่ามีการสำรวจหลังจากทางรัฐบาลได้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวพบว่าการดำเนินการดังกล่าวทำให้รัฐบาล

1. ประหยัดงบประมาณ

2. ทำให้การทำงานของรัฐบาลนั้นสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องได้แม้ในยามฉุกเฉิน

การทำงานจากบ้านนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานจากที่บ้านเสมอไป แต่หลักการดังกล่าวหมายความว่าข้าราชการสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เช่น ร้านกาแฟ ส่วนราชการต่าง ๆ แม้กระทั่งในต่างประเทศหากอยู่ระหว่างการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยข้าราชการไม่ต้องฝ่ารถติด เบียดเสียดคนบนรถไฟฟ้า ลุยฝนกันตัวเปียกมาที่สำนักงานโดยการทำงานจากบ้านนั้นอยู่บนสมมติฐานที่ว่าข้าราชการทุกคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน

ดังนั้นหากมีเรื่องที่จำเป็นก็สามารถทำงานนอกสถานที่ได้ ซึ่งดีกว่าจะให้ข้าราชการตัดสินใจตัดความรำคาญโดยการลาหยุดไปทั้งวัน เพราะการลาหยุดนั้นจะส่งผลให้การทำงานชิ้นนั้น ๆ ขาดความก้าวหน้าหรือต่อเนื่องไป นอกจากนี้ในมุมมองข้าราชการ ก็ไม่ต้องเสียวันลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะการลาหยุดครั้งดังกล่าวควรจะเก็บไว้ในยามที่มีเหตุจำเป็นเท่านั้น

ท่านผู้อ่านเคยนั่งทำงานที่ร้านกาแฟหรือเปล่าครับ ? การทำงานนอกสถานที่นั้นยังสร้างอารมณ์ในการทำงานที่แปลกใหม่ได้ซึ่งจะสร้างอัตราผลิตภาพ (Productivity) ที่มากกว่าการนั่งทำงานในที่ทำงานในบรรยากาศที่จำเจหากพิจารณาดูแล้วจะพบว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่าย (ส่วนราชการ – ข้าราชการ) ได้ประโยชน์ (Win-win situation)

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วก็อาจจะมีคำถามว่า แล้วผู้บังคับบัญชาสามารถรู้ได้ว่าคน ๆ นั้นทำงานเต็มเวลาจริงหรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของข้าราชการได้ นอกจากนี้อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ได้รับโอกาส Work From Home กับคนที่ไม่ได้รับโอกาสดังกล่าว หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อภาคประชาชนด้วย ผมขออนุญาตตอบว่าปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายที่รองรับการทำงานจากบ้านได้ อาทิ

  1. แชร์ไดรฟ์ (Shared Drive) ไว้แชร์เอกสารกันทางระบบคลาวด์
  2. โปรแกรมสนทนา (Chat App) เอาไว้พิมพ์คุยกันแทนอีเมล
  3. โปรแกรมติดตามชั่วโมงการทำงาน (Hour Tracker) เอาไว้ตรวจสอบการทำงานของบุคลากร
  4. โปรแกรมบริหารจัดการโครงการ (Project Management Tool) เอาไว้บริหารจัดการงาน

สำหรับคนที่เห็นด้วยกับหลักการ Work From Home ก็อาจจะถามว่า แล้วทำไมส่วนราชการในประเทศไทยไม่นำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้บ้างหละ ผมก็ขอเล่าว่า…

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือ พ.ศ. 2551 กระทรวงการคลังได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในหน่วยงานเพื่อจะนำไปลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 20% ต่อหัว โดยอนุญาตให้คนในหน่วยงานมาทำงานที่สำนักงานแค่สัปดาห์ละ 4 วัน และอีก 1 วันให้ทำงานที่บ้านได้ โดยจะให้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้บุคลากรแต่ละหน่วยงานทำงานจากที่บ้านได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งนั้นเเปลว่าตามกฎระเบียบของระบบราชการนั้นสามารถนำหลักการนี้ไปปฏิบัติได้  แล้วทำไมปัจจุบันจึงไม่มีหน่วยงานใดพูดถึงแนวคิดดังกล่าวเลย

อาจเป็นเพราะข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงาน ก.พ. ที่ได้เปิดเผยไว้เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 ว่า จำนวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทยมีมากถึง 2,841,259 คน ฉะนั้นการนำนโยบายใดไปใช้ย่อมทำได้ยากกว่าการที่บริษัทเอกชนนำนโยบายไปใช้ในหน่วยงานของตนเอง เพราะบริษัทเอกชน 1 บริษัทนั้นมีจำนวนคนไม่มากเท่าหน่วยงานของรัฐ

แต่การที่จะสรุปแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะจำนวนข้าราชการในหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าจำนวนข้าราชการทั้งหมดในประเทศไทย แต่ทำไมเขาสามารถนำแนวคิดการทำงานจากบ้านไปปฏิบัติได้สำเร็จ มาถึงย่อหน้าสุดท้ายของบทความนี้แล้ว ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ตอบคำถามเหล่านี้ในใจดัง ๆ ว่า “ควร” หรือ ”ไม่ควร” ให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้าน และอะไรคืออุปสรรคของการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติกันแน่

ภาคเอกชนว่าอย่างไรกันบ้าง ?

Work At Home ทำไมคนรุ่นใหม่ทำงานที่ ‘บ้าน’ ได้ดีกว่าที่ออฟฟิศ Posted On 28 September 2016 Thanet Ratanakul https://thematter.co/byte/work-at-home/10031

เนื้อหาน่าสนใจในระดับใด

โปรดให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 5 / 5. นับคะแนน 2

ยังไม่มีใครให้คะแนนเลย มาเป็นคนแรกที่ให้คะแนนกันเถอะ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *